วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ความเสี่ยงจากนาโนเทคโนโลยี


        ปัจจุบันนี้นาโนเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ใครๆต่างก็พูดถึงคำว่า นาโน สินค้าที่ใช้นาโนเทคโนโลยีบางอย่าง ก็อวดอ้างสรรพคุณต่างๆ นาๆ มากมาย อย่างเช่น "ฉันใช้ถุงเท้านาโนนะ ใส่มา 1 อาทิตย์แล้ว ไม่ต้องซักเลย" หรือ บางคนอาจเคยได้ยินว่า "ครีมนาโน ใช้ดีมากๆ ใช้แล้วหน้าทั้งเด้ง และขาวเหมือนลูกปิงปอง" แล้วหนึ่งคำถามที่ทุกคนอยากรู้คือ "ไอ้เจ้านาโนเทคโนโลยีที่ใช้กันอยู่ล่ะ มันอันตรายกับชีวิตมนุษย์หรือมีผลกระทบกับสภาวะแวดล้อมไหม ?" วันนี้ผมจะเล่างานวิจัยที่เค้าตีพิมพ์ ค้นคว้ากันมานะครับ
หนูผู้น่าสงสาร และ อนุภาคนาโนไทเทเนียม

  ศาสตร์จารย์โรเบิร์ตจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส ได้รายงานว่าอนุภาคนาโนไทเทเนียมไดออกไซด์ (TiO2) (ที่สามารถพบได้ใน เครื่องสำอางค์ หรือคลีมกันแดด) เป็นสาเหตุในเกิดความผิดปกติของยีนในตัวหนู อนุภาคนาโนไทเทเนียมสามารถเข้าไปสะสมในอวัยวะหลายส่วนของหนูโดยร่างกายจะไม่มีทางกำจัดมันออกได้ และเนื่องจากขนาดที่เล็กจิ๋วของมัน มันจึงสามารถกระจายได้ทุกแห่งในร่างกาย สามารถเข้าไปแทรกซึมในเซลล์ และไปรบกวนกลไลการทำงานของระบบบเซลล์ต่างๆ  ในการศึกษาของศาสตร์จารย์โรเบิร์ตแสดงให้เห็นว่า ถ้าหนูดื่มน้ำที่มีส่วนผสมของอนุภาคนาโนไทเทเนียม ในวันที่ห้า อนุภาคนาโนไทเทเนียมดังกล่าว จะเริ่มทำลายยีนของหนู เมื่อเทียบเท่ากับมนุษย์คือ เราเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอนุภาคนาโนไทเทเนียมประมาณ 1 ปีครึ่ง

ท่อนาโนคาร์บอน

      ท่อนาโนคาร์บอนเป็นหนึ่งในวัสดุยอดฮิตที่นำไปใช้งานในห้องทดลอง หรือไปประยุกต์การใช้งานจริง เนื่องจากคุณสมบัติพิเศษหลายประการของมัน  แต่การสูดดมมันเข้าไป ทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างชัดเจน ในวารสาร ชื่อ  Nature Nanotechnology (ซึ่งถือว่าเป็นวารสารที่มีผลกระทบด้านนาโนต่อชาวโลกมากที่สุด Impact factor ด้านนาโนสูงสุด) เพียงการสูดดมครั้งแรก ท่อนาโนคาร์บอนจะส่งผลกระทบกับเยื่อหุ้มปอดของหนูทันที การค้นพบครั้งนี้ยังเป็นที่กังวลว่า หากสูดดมท่อนาโนคาร์บอนติดต่อกันอาจทำให้เป็นสาเหตุในการเกิดโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดได้ 

นาโนซิลเวอร์ และนีโมกับพ้องเพื่อน

          ผ้าที่เคลือบด้วยนาโนซิลเวอร์ (Nanosilver) สามารถขจัดความชื้นและระงับการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย นักวิทยาศาสตร์ชาวสวิตเซอร์แลนด์ได้ทดสอบปริมาณการปลดปล่อยอนุภาคนาโนซิลเวอร์ที่อยู่ในเนื้อผ้าภายหลังการซักทำความสะอาด ผลปรากฏว่าภายหลังการซักครั้งแรก ค่าของการปลดปล่อยอนุภาคนาโนซิลเวอร์อยู่ที่ประมาณ 1.3 ถึง 35 % เลยทีเดียว การปลดปล่อยอนุภาคนาโนซิลเวอร์ดังกล่าวอาจจะไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์ แต่อนุภาคโลหะที่ถูกปลดปล่อยออกมานั้นสามารถส่งผลกับสัตว์น้ำจืดและน้ำเค็ม เป็นสาเหตุที่ทำให้ปลาเพิ่งเกิดใหม่ตายได้เลยทีเดียว และมันอาจจะส่งผลต่อระบบนิเวศทางชีวภาพได้ในระยะยาว 
         จนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานที่ชัดแจ้ง สำหรับอันตรายของอนุภาคนาโนต่อมนุษย์โดยตรง งานวิจัยส่วนใหญ่ยังคงเป็นการทดสอบกับสัตว์ทดลอง เช่น หนู เป็นต้น แต่ถึงอย่างไรจากการศึกษาด้านบนทำให้เราเชื่อได้ว่าอนุภาคนาโนสามารถเข้าไปทางร่ายกายจากการหายใจ และเข้าไปสะสมในปอดเราได้แน่นอน เพราะฉะนั้นถ้าเราจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับนาโนทั้งหลาย เราต้องมั่นใจว่าผลิตภัฑณ์ต้องไม่ปลดปล่อยอนุภาคนาโนมาสู่ตัวเรา หรืออาจจะปลดปล่อยแต่ควรเป็นปริมาณที่น้อยที่สุด