ผ่านมาแล้วหลายเดือนกับมหันตภัยน้ำท่วมที่ยังคงไม่จบสิ้น เจ้ามวลน้ำมหาศาลดังกล่าวยังมีโอกาสสูงมาก ที่จะไหลทะลักเข้าท่วมทุกพื้นที่ใน กทม. อย่างเท่าเทียม (อาจจะ 1 -2 เมตรทุกเขตในกทม. ) และเราทุกคนหวังว่า มหาวิกฤตอุทกภัยครั้งนี้จะผ่านพ้นไปด้วยดี...
สิ่งหนึ่งที่เราคงได้เห็นจากความสามารถของคนไทยเราคือ "วิธีสร้างคันกั้นน้ำ" ที่ใช้กันตั้งแต่ คันดิน หินคลุก กระสอบทราย อิฐบล็อก อิฐมวลเบา แผ่นเหล็ก ท่อปูน ต่างๆ นานา ซึ่งแต่ละวิธีการจะมีข้อดี และข้อเสียแตกต่างกัน เราคงไม่ต้องไปพูดถึงรายละเอียดมากนักเพราะคิดว่าทุกท่านคงเคยเห็นตามสื่อต่างๆ กันเป็นอย่างดี
วันนี้ ลองมาดู เทคโนโลยีคันกั้นน้ำของต่างประเทศ กันบ้างนะครับ ว่าเค้าจะมีวิธีสร้างหรืออุปกรณ์แบบไหนที่ใช้ทำเป็นคันกั้นน้ำ
1. Floodstop จากประเทศอังกฤษครับ รูปร่างคล้ายกับแผงกั้นพลาสติก ใช้สำหรับแบ่งช่องทางเดินรถการจราจรบ้านเรา ดังรูปด้านล่างเลยครับ
หลักการของมันไม่ยุ่งยากเลย แค่ออกแบบให้เป็นตัวต่อคล้าย (LEGO) สามารถเอามาประกอบต่อเป็นแนวยาวได้ ระหว่างรอยต่อของแต่ละอันก็จะมียางป้องกันไม่ให้น้ำซึมไปได้ ด้านล่างก็จะมียางกันน้ำซึมเช่นกัน วิธีการถ่วงน้ำหนักก็ใช้น้ำที่ท่วมมาใส่ด้านใน เพื่อเป็นตัวถ่วงน้ำหนัก Clip VDO ใช้งานก็สามารถดูได้จากด้านล่างนี้เลยครับ
ข้อดีของมันคือ สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ไม่สกปรก นำมาใช้ซ้ำได้ ง่ายต่อการเก็บรักษา ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือก 2 ขนาดตามความสูง 0.5 เมตร และ 0.9 เมตร
ราคาของมันยังค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นสินค้าจากต่างประเทศ เทคโนโลยีน่าสนใจดีซึ่งประเทศไทยเราสามารถผลิตใช้เองได้ (แต่ต้องคำนึงเรื่องสิทธิบัตรด้วยนะครับ) เราอาจจะออกแบบให้ต่อขึ้นเป็นกำแพงเพื่อเพิ่มความสูงได้อีก
2. WIPP (Water Inflated Property Protectors) Flood Barriers ของบริษัท
Hydrological Solutions จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีรูปร่างคล้ายบอลลูนยาวๆ ดังรูปด้านล่างครับ
บอลลูนกั้นน้ำนี้มีหลายขนาดมากครับ วิธีติดตั้งก็จะเป็นไปตามรูปภาพด้านล่าง และมีการใส่น้ำเข้าไปยังบอลลูนนี้เพื่อเป็นการใส่น้ำหนักเข้าไปครับ
เจ้าบอลลูนคันกั้นน้ำนี้ จะอาศัย 3 องค์ประกอบหลักๆ ในการทำงาน คือ
1. ผนังเหนือน้ำ (Freeboard) คือ ผนังความสูงที่เหนือจากผิวระดับน้ำ โดยปกติควรให้มี Freeboard มากกว่า 25% เมื่อน้ำเคลื่อนที่ด้วยความเร็วต่ำกว่า 1 m/s ตัวอย่างเช่น ถ้าเจ้าบอลลูนยักษ์มีความสูง 1 เมตร มันจะสามารถกั้นน้ำได้ดีที่ระดับน้ำท่วมต่ำกว่า 75 เซนติเมตร เพื่อรองรับคลื่นที่อาจเกิดขึ้นได้
2. แรงเสียดทานของพื้นผิว (Surface Friction) เป็นแรงระหว่างบอลลูนยักษ์กับพื้นผิวที่มันสัมผัส เป็นแรงสำคัญที่ช่วยให้น้ำไม่สามารถหมุดรั่วยังด้านล่างได้ ถ้าพื้นผิวสัมผัสไม่เรียบ ตัวอย่างเช่น พื้นดิน เราอาจเพิ่มแรงดังกล่าวโดยการให้มี Freeboard มากขึ้น
3. ระบบแผ่นปะทะด้านใน (Internal Baffle System) บอลลูนคันกั้นน้ำนี้จะมีระบบด้านในที่สำคัญอีกหนึ่ง เพื่อป้องกันแรงดันมหาศาสของน้ำ คือมันจะแบ่งด้านในของบอลลูนออกเป็นอย่างน้อยอีก 2 ช่องตามยาว โดยช่องแต่ละช่องสามารถยุบ หรือพองตัวได้โดยอิสระต่อกัน เมื่อมีแรงปะทะหรือมวลน้ำมากขึ้นในฝั่งหนึ่ง ช่องที่โดยปะทะดังกล่าวจะสามารถพองตัวมากกว่าอีกฝั่ง :ซึ่งการพองตัวดังกล่าวทำให้มันช่วยรักษาสมดุล และช่วยกันแรงปะทะของน้ำไว้ได้
ข้อดีของบอลลูนคันกั้นน้ำนี้ คือสามารถนำไปใช้งานในพื้นที่บริเวณกว้างใหญ่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องวางบนพื้นผิวที่เรียบเท่านั้น ความสูง สูงสุดที่บอลลูนนี้สามารถกันน้ำได้เป็นอย่างดี คือ 1.8 เมตร (ความสูงบอลลูน 2.4 เมตร ซึ่งสามารถป้องกันคลื่นน้ำที่อาจเกิดขึ้นได้)
3. Geodesign Barriers จาก ประเทศสวีเดน
คันกั้นน้ำของบริษัท Geodesign ของปรเทศสวีเดนนี้ ถือว่าเป็นคันกั้นน้ำชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยม ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุด หลักการสร้าง และวิธีการทำงานไม่ซับซ้อน สามารถดูได้จากภาพด้านล่าง ขั้นแรกเราจะออกแบบให้มีฐานรองรับเอียงอยู่ที่ 45 องศา (รูปที่ 1 และ 2) หลังจากนั้นก็นำเอาแผ่นอะลูมิเนียม หรือ แผ่นพลาสติกแบบแข็ง มาตั้งบนฐานรองรับ (ดังรูปที่ 3) สุดท้าย นำพลาสติกที่กั้นน้ำได้มาคลุมอีกชั้นเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทะลุเข้ามา (ดังรูปที่ 4)
วิธีการออกแบบดังกล่าว เราสามารถเสริมความสูงได้เรื่อยๆ ปัจจุบันคันกั้นน้ำดังกล่าวสามารถกันน้ำได้ที่ระดับความสูง 2.4 เมตร
4. SOSAVE sandbag จากประเทศจีน
มันก็คือ "กระสอบทรายอัจฉริยะ" นั่นเองครับ รูปร่างก็เหมือนกระสอบทรายที่เราใช้กันอยู่แต่เป็นการออกแบบจากบริษัท
SOSAVE ของประเทศจีน ก่อนใช้มันจะมีรูปร่างคล้ายผ้ากระสอบธรรมดา น้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 400 กรัม แต่เมื่อนำมาใช้งาน ให้เอาผ้ากระสอบดังกล่าว ใส่ไปในน้ำประมาณ 3-5 นาที หลังจากนั้นผ้ากระสอบดังกล่าวจะขยายตัวขึ้น และมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 15 กิโลกรัม
หลักการการทำงานของเจ้ากระสอบทรายอัจฉริยะ คือ การใช้วัสดุพิเศษที่สามารถดูดซับน้ำเก็บไว้ หรือ จะพองตัวออกเมื่อทำปฎิกิริยากับน้ำ ทำให้กระสอบทรายดังกล่าวมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น จนเหมือนกระสอบทรายที่เราใช้กันทั่วไป และมันยังสามารถจะกลับคืนรูปได้ โดยการทำให้พวกมันแห้ง ไม่เปียกน้ำภายใน 2-3 สัปดาห์ ถือว่าเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าซื้อเก็บไว้ใช้เลยทีเดียว
จากตัวอย่างที่ได้นำเสนอด้านบน จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีคันกั้นน้ำของต่างประเทศก็ไม่ได้จะยุ่งยากซับซ้อน มากมายอะไรนัก เพราะฉะนั้นคงถึงเวลาแล้ว ที่นักวิจัยของไทยจะมาช่วยกันพัฒนาคันกั้นน้ำที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสามารถช่วยป้องกันความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจไทยที่เสียหายอย่างหนักหน่วง เหมือนเช่น ณ ในเวลานี้ อีกทั้งเทคโนโลยีคันกั้นน้ำยังคงเป็นสิ่งจำเป็นไปอีกนานแสนนาน... ตราบใดที่ประเทศไทยเรา ยังไม่สามารถบริหารจัดการปัญหาเรื่องการระบายน้ำได้ดีอย่างที่เห็นกันในทุกวันนี้ครับ