วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

วิทยาศาสตร์ของความรัก (Science of Love)

ถ้าจะพูดถึง หญิงสาวสวย พราวเสน่ห์ เร่าร้อน และร้อนแรง สามารถจะทำอะไรตามใจที่เธอคิด อีกทั้งที่สำคัญ เมื่อเธอสนใจผู้ชายคนไหน เธอก็จะมีวิธีจัดการกับผู้ชายคนนั้น จนได้เค้ามาครอบครองถึงแม้นว่าเค้าจะมีครอบครัวแล้วก็ตาม..... ผู้หญิงคนนั้น เธอชื่อ "เรยา" จากละครเรื่อง ดอกส้มสีทอง ที่กำลังเป็นที่วิพากย์วิจารณ์ อย่างหนักในกระแสสังคมไทยเวลานี้
เราจึงเกิดคำถามหนึ่งว่า เป็นเพราะ ความรักหรือ?ที่ทำให้ผู้ชายหลายคนๆต้องหลงไปกับเธอ แม้นกระทั่งคุณใหญ่ ที่ถือเป็นพ่อพระยังต้องตกหลุมรักเธอหมดใจ   วิทยาศาสตร์มีคำตอบเรื่องความรักครับ

Prof. Helen E. Fisher  จาก มหาวิทยาลัย Rutgers University ประเทศอเมริกาได้ศึกษาเข้าไปในระบบสมอง และอวัยวะภายในของร่างกายต่างๆ จนสามารถ แบ่งช่วงเวลาในการ Falling in Love ได้ทั้ง 3 ช่วงครับ

ช่วงที่ 1: ช่วงเกิดราคะ (Lust)
ช่วงการเกิด กามตัณหา ราคะ เป็นช่วงเริ่มต้นที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้น เร้าใจเปรียบเหมือนช่วงข้าวใหม่ปลามัน ซึ่งจะเป็นผลมาจาก ฮอร์โมนเพศ 2 ตัว คือ เทสโทสเทอโรน (Testosterone) และเอสโตรเจน (Oestrogen) ฮอร์โมนเพศนี้จะช่วยควบคุมอาการความอยากได้สิ่งต่างๆของเรา ซึ่งอาจมีมากมีน้อยแตกต่างกันไปขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น อายุ สุขภาพร่างกาย หรือสิ่งเร้าต่างๆ

ช่วงที่ 2: ช่วงเกิดความเสน่หา (Attraction)
ช่วงนี้จะทำให้เราใช้เวลาส่วนใหญ่กับความรักใหม่ที่เกิดขึ้น อาจจะเฝ้ารำพึง รำพัน เพ้อถึงคนรัก หรือที่เรียกว่าโลกนี้เป็นสีชมพูก็ว่าได้ ใครจะพูดอะไร เตือนอะไรเราจะไม่ค่อยฟังมากนัก ช่วงนี้จะถูกควบคุมโดยกลุ่มสารสื่อประสาทที่เรียกว่า โมโนอะมิเนส (Monoamines) อย่างเช่น
- โดพามีน (Dopamine)  คือสารเคมีที่ช่วยให้สมองตื่นตัว เช่นเดียวกับโคเคอีน และนิโคตีน
-นอร์เอพิเนฟรีน (Norepinephrine) หรือที่รู้จักในชื่อ อะดรีนาลิน (Adrenalin) ทำให้เราเหงื่อแตก หรือหัวใจเต้นเร็ว เมื่ออยู่ใกล้คนที่เรารัก
-เซโรโทนิน (Serotonin) เป็นหนึ่งในสารสำคัญที่ทำให้เราเกิดอาการเศร้า เหงาจิตใจ เพราะความรัก

ช่วงที่ 3: ช่วงความผูกพัน (Attachment)

ไม่มีใครที่จะอยู่ในช่วงที่ 2 หรือช่วงโลกนี้เป็นสีชมพู ได้ตลอดชีวิต ถ้าผ่านพ้นช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ถ้าคู่นั้นไม่เลิกกัน ก็จะจับมือกันเข้าสู่ประตูวิวาห์ พร้อมที่จะสร้างครอบครับ และใช้ชีวิตยืนยาวด้วยกัน โดยช่วงนี้จะมีฮอร์โมนสองตัวสำคัญทีีปลดปล่อยจากระบบประสาท คือ
- ออกซีโทซิน (Oxytocin) ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดการขับน้ำนมและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างมารดา และทารก โดยมีการพบว่าออกซีโทซินจะถูกขับออกมาเมื่อชายหญิงมีความสัมพันธ์ทางเพศที่ลึกซึ้ง ทฤษฎีบอกไว้ว่ายิ่งชายหญิงมีความสัมพันธ์กันลึกซึ้งแค่ไหน ความผูกพันก็มีมากขึ้นเท่านั้น
- วาโซเพรสซิน (Vasopressin) เป็นสารเคมีที่สำคัญตัวหนึ่งที่ทำให้คู่รักมีสัมพันธ์ยาวนานมากขึ้น สารตัวนี้ได้ถูกค้นพบ จากนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาพฤษติกรรมความรักของหนูชนิดหนึ่งที่เชื่อว่าเป็น หนูพวกผัวเดียวเมียเดียว (Prairie Vole) นักวิทยาศาสตร์ได้ลองลดปริมาณสารเคมีตัวนี้กับหนู  ผลปรากฎว่าเมื่อมีหนูตัวอื่นมาตีท้ายครัว กับ แฟนตัวเอง เจ้าหนูแฟนหลวง กลับไม่มีท่าที หึงหวง หรือกระวนกระวายใดๆ

 จากช่วงเวลาของความรักต่างๆ เราจะเห็นได้ว่า มนุษย์ปุธุชน ธรรมดาอย่างเราที่มีความรัก อาจจะต้องตาบอด หูหนวกบ้างกับความรักบ้างเป็นธรรมดา แต่เราก็คงจะไม่หน้ามืด ตาบอดกับความรักที่ลวงหลอกตลอดกาล เพราะฉะนั้นเราลองมาลุ้นกับ บทสรุปของ คุณเรยา จากเรื่องดอกส้มสีทอง กันดูนะครับ ว่าจะมีบทสรุปอย่างไร.....

1 ความคิดเห็น:

Palmsaxman กล่าวว่า...

ผมรู้เยอะขึ้นอีกเรื่องนึงแล้วครับ ขอบคุณมากครับ^^